ความสำเร็จของลูกเป็นเรื่องใหญ่ที่พ่อแม่ควรวางแผนไว้เป็นอย่างดี
หากคุณเห็นว่าการเตรียมพร้อมค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการเรียนของลูกมีความสำคัญกับอนาคตและความสำเร็จของลูก วันนี้คุณทราบหรือไม่ว่าค่าใช้จ่ายที่ควรจะเป็นนั้นควรเป็นเท่าไร และคุณมีเวลาเตรียมตัวนานแค่ไหน แล้วเชื่อหรือไม่ว่าหากเราวางแผนการลงทุนได้อย่างเหมาะสม เราจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนมาช่วยจ่ายค่าเล่าเรียนลูก ทำให้คุณพ่อคุณแม่สบายใจและใช้ต้นทุนที่น้อยกว่าที่ต้องจ่ายจริง

5 ขั้นตอนวางแผนการเงินเพื่อความสำเร็จของลูก
1. กำหนดเป้าหมาย ค้นหาให้พบว่าค่าเล่าเรียนของลูกราคาเท่าไร
การคิดและคาดการณ์ล่วงหน้าสำหรับค่าใช้จ่ายค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นในการศึกษาของลูก ถือเป็นประเด็นหลักที่ต้องทำเพื่อเป็นการกำหนดเป้าหมายทางการเงิน หากกำหนดเป้าหมายไม่ดีอาจมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายเมื่อถึงเวลาที่จำเป็น ในเมื่อเราทราบล่วงหน้าอยู่แล้วว่าอีก 5 ปี, 10 ปี, 15 ปีหรืออีก 18 ปีข้างหน้า ลูกต้องเข้ารับการศึกษาที่สถาบันการศึกษาในระดับชั้นต่างๆ เรามีความจำเป็นที่จะต้องทราบว่าระดับการศึกษานั้นๆ มีค่าใช้จ่ายค่าเล่าเรียนเป็นจำนวนเท่าไร นี่คือเป้าหมายทางการเงินที่ทำให้เราสามารถวางแผนกำหนดวิธีการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อความแม่นยำยิ่งขึ้น เราจำเป็นต้องคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อ (Inflation) เพราะค่าเล่าเรียนของลูกแพงขึ้นตามเวลาที่เปลี่ยนไป หากเราทราบล่วงหน้าอยู่แล้วว่าอีก 18 ปีข้างหน้าต้องชำระค่าเล่าเรียนลูก เราควรคิดไปข้างหน้าด้วยว่าตอนนั้นราคาค่าเล่าเรียนลูกจะเป็นเท่าไร ดังนั้นเราจึงต้องไม่ละเลยถึงปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเตรียมค่าใช้จ่ายนั้น ๆ ด้วย
ตัวอย่าง : เมื่อเราทราบว่าอีก 15 ปีข้างหน้า ลูกต้องเข้าเรียนระดับปริญญาตรี และเราคาดการณ์ว่าลูกจะเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำ ค่าเล่าเรียนปีละ 200,000 บาท หรือตลอดหลักสูตร 4 ปี รวมเป็นเงิน 800,000 บาท เราสามารถคำนวนมูลค่าค่าเล่าเรียนในอนาคตได้จากสมการมูลค่าเงินตามเวลา (Time Value of Money) สามารถใช้เครื่องคิดเลขทางการเงินช่วยคำนวนได้

2. วางแผน จัดพอร์ต เลือกสินทรัพย์
เมื่อกำหนดเป้าหมายทางการเงินเรียบร้อยแล้ว จะสามารถเริ่มวางแผนการลงทุนได้ โดยให้ยึดหลักความเป็นไปได้ทางการลงทุน ไม่เลือกวิธีการลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงเกินความจริง เพราะการลงทุนที่อัตราผลตอบแทนสูงก็จะมีความเสี่ยงสูงเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาของลูกต้องระมัดระวังเรื่องความเสี่ยงอย่างรอบคอบ
เลือกสินทรัพย์การลงทุนที่หลากหลายภายใต้พอร์ตการลงทุน เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน รวมถึงเลือกใช้กลยุทธด้านการเฉลี่ยต้นทุนแบบ DCA เพื่อลดความไม่แน่นอนจากความผันผวนในการลงทุน
นักวางแผนการลงทุนจะใช้วิธีการคำนวณมูลค่าเงินตามเวลา (Time Value of Money) ในการคิดเงินลงทุนในแต่ละงวด และใช้ปัจจัยเรื่องอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนตามความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้รับคำปรึกษา เราแสดงให้เห็นโอกาสในความสำเร็จทางการเงินและแนะนำการลงทุนผ่านสินทรัพย์ที่ได้รับประโยชน์ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจตามบทวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์มืออาชีพ
ตัวอย่างการวางแผนเพื่อทุนการศึกษาลูกรวมค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในขณะศึกษาระดับปริญญาตรี เมื่อคำนวนเป้าหมายทางการเงินได้ 2,500,000 บาท ปัจจุบันสามารถเริ่มต้นลงทุนด้วยเงิน 500,000 บาท สามารถเพิ่มเงินลงทุนได้เดือนละ 6,000 บาทในระยะเวลา 15 ปี (180 เดือน)

ภาพอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนจะมีการเปลี่ยนแปลงและไม่คงที่ ในภาพใช้เพื่อเป็นตัวอย่างการคำนวนเท่านั้น
3. ปิดประตูทุกความเสี่ยง
หากเราพิจารณาด้านการลงทุนแล้ว เรามีโอกาสบรรลุเป้าหมายการลงทุนได้ โดยการบริหารความเสี่ยงจากการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ด้วยวิธี Asset Allocation และลงทุนต่อเนื่องแบบเฉลี่ยต้นทุนด้วยวิธี DCA ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีกลยุทธบริหารความเสี่ยงที่ดี แต่ยังมีความเสี่ยงที่เราไม่สามารถควบคุมได้และมีผลกระทบร้ายแรงต่อพอร์ตการลงทุน นั่นคือ ความเสี่ยงจากการที่ผู้ปกครองเสียชีวิต หรือทุพลภาพจนไม่สามารถทำงานหารายได้ รวมถึงการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่อาจต้องนำเงินในพอร์ตการลงทุนของลูกมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล
การทำประกันชีวิต ประกันภัยทุพลภาพ และประกันโรคร้ายแรง จึงมีความสำคัญต่อแผนการเงินอย่างยิ่ง เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดฝันแล้วจะเกิดผลกระทบที่ร้ายแรงต่อพอร์ตการลงทุน นั่นหมายถึง “เกิดผลกระทบต่ออนาคตของลูกเช่นกัน”
ขั้นตอนนี้ผู้วางแผนการเงินต้องปรึกษาตัวแทนประกันชีวิตที่จะเลือกใช้กรมธรรม์ที่มีความคุ้มครองสอดคล้องกับเป้าหมายการเงิน โดยเลือกแผนความคุ้มครองที่คุ้มค่ากับต้นทุนที่เสียไปให้มากที่สุด
4. เริ่มต้นลงมือทำ
เมื่อวางแผนอย่างรอบคอบแล้ว ก็ถือเวลาที่เราจะเริ่มต้นลงมือทำอย่างมั่นใจ เริ่มต้นได้จากการเปิดบัญชีซื้อขายกองทุนรวม เริ่มทำคำสั่งซื้อกองทุน เริ่มสร้างคำสั่ง DCA และสุดท้ายปิดความเสี่ยงด้วยการซื้อกรมธรรม์
เพราะวางแผนไว้อย่างดีแล้ว เราจึงมั่นใจว่าสิ่งที่ลงมือทำไปนั้นมีจุดหมายอย่างแน่นอน
5. ติดตามข่าวสารแล้วปรับปรุงพอร์ตการลงทุน
หลังจากที่เริ่มลงมือทำแล้ว ผู้ลงทุนต้องติดตามสถานการณ์การลงทุนจากสินทรัพย์ที่เลือกลงทุน โดยเราต้องการให้พอร์ตการลงทุนของคุณสอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจ และปรับปรุงพอร์ตโดยคำนึงถึงปัจจัยบวกและลบที่มีผลกระทบต่อการลงทุนในพอร์ตของคุณ ดังนั้น เราแนะนำให้มีการปรับปรุงพอร์ต เช่น การแนะนำการเข้าซื้อหน่วยลงทุน หรือแนะนำให้ขายรวมถึงการสับเปลี่ยนกองทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์อยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ ด้วยวิธีการที่เรียกว่า Portfolio Rebalancing เพื่อรักษาสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมสอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง