การลงทุนมีความเสี่ยงแต่การไม่ลงทุนเสี่ยงกว่า การลงทุนแบบไม่วางแผนก็เสี่ยงด้วยเช่นกัน
คำถามที่หลายคนอยากรู้และเป็นคำถามที่มักถูกถามเสมอจากผู้รับคำปรึกษา นั่นคือ “มีเงินอยู่แต่ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรดี” “อยากให้เงินเติบโตงอกเงยทำไงดี” เราอาจคุ้นเคยกับการฝากเงินไว้ในธนาคารไม่ว่าจะเป็นการฝากแบบออมทรัพย์หรือฝากประจำ เพื่อที่จะได้รับดอกเบี้ยจากการฝากเงิน และเราค่อนข้างมั่นใจว่าการฝากเงินในธนาคารมีความปลอดภัยและมั่นคง แต่เราต้องอย่าลืมไปว่าการฝากเงินในธนาคารนั้นอาจทำได้เพียงบางส่วนของเงินที่เรามี
การฝากเงินก็มีความเสี่ยง
เราอาจลืมนึกไปว่าการฝากเงินในธนาคารก็มีอุปสรรคจนทำให้เราไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดคิดไว้ ซึ่งเราจะเรียกสิ่งที่ทำให้เราไม่ได้ผลตอบแทนตามที่หวังว่า “ความเสี่ยง” หลายๆ คนอาจตกใจว่าฝากเงินจะมีความเสี่ยงได้อย่างไร เงินของเราก็ไม่ได้หายไปไหน แต่แท้จริงแล้วมูลค่าและอำนาจซื้อของเราจะน้อยลงไปเรื่อยๆ ตามเวลาที่เปลี่ยนไป เราอาจมีประสบการณ์ที่เห็นว่า ราคาสินค้า ราคาอาหาร แพงขึ้นจากที่เคยซื้อ
อุปสรรคแรก คือ เงินเฟ้อที่ทำให้เงินในบัญชีมีอำนาจซื้อน้อยลง
บางปีเงินเฟ้อสูงมาก บางปีเงินเฟ้อน้อย แต่เมื่อคิดเป็นอัตราเฉลี่ยจากสถิติประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 3% ต่อปี สามารถยกตัวอย่างได้ว่า หากวันนี้เราซื้อก๋วยเตี๋ยวชามละ 45 บาท อีก 30 ปีข้างหน้า ก๋วยเตี๋ยวจะมีราคาเท่ากับ 109 บาทเลยทีเดียว ดังนั้นเราต้องพิจารณาให้ดีว่า หากฝากเงินในธนาคารได้รับดอกเบี้ยปีละ 1.5% แต่อัตราเงินเฟ้อ 3% มันหลายถึงเราขาดทุนอยู่หรือเปล่า
อุปสรรคที่สอง คือ กฏหมายคุ้มครองเงินฝาก
หากฝากเงินในธนาคาร 5 ล้านบาท แล้วเกิดเหตุไม่คาดฝันจนทำให้ธนาคารที่เราฝากเงินนั้นเลิกกิจการ เราต้องรับรู้ไว้ด้วยว่าธนาคารดังกล่าวจะคืนเงินให้เราเพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เราต้องเปิดบัญชีฝากเงินไว้หลายๆ ธนาคาร
อุปสรรคที่สาม คือ การเสียโอกาส
ในหลักการของการวางแผนการเงินส่วนบุคคล การฝากเงินในธนาคารถือว่าเป็นการบริหารสภาพคล่อง ซึ่งหมายถึงเราสามารถดึงมาใช้จ่ายได้อย่างคล่องตัว และมูลค่าไม่มีความผันผวนในระยะสั้นๆ นักวางแผนการเงินแนะนำให้เราเก็บสำรองเงินในสินทรัพย์สภาพคล่องไว้ประมาณ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน ซึ่งหมายถึงเราจะมีเงินเพียงพอใช้ประมาณ 3-6 เดือนหากเราติดปัญหาไม่สามารถหารายได้ หากเราเก็บเงินส่วนนี้มากเกินไปจะทำให้เกิดการเสียโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น ดังนั้นเราควรนำเงินส่วนเกินนี้ไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่มีอัตราผลตอบแทนมากขึ้น
พอร์ตการลงทุน
ก่อนที่เราจะจัดพอร์ตการลงทุน สิ่งที่เราต้องถามตัวเองและตอบคำถามนั้นให้ได้คือ ระยะเวลานานแค่ไหนที่เราจะไม่ได้นำเงินก้อนนี้ออกมาใช้จ่าย เพราะเงินที่จะนำมาลงทุนนั้นควรเป็นเงินเย็นๆ ที่คงเหลือจากการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน และที่สำคัญเราต้องมั่นใจว่าเราได้เก็บเงินอีกส่วนหนึ่งสำรองไว้ในกรณีมีเหตุการณ์ฉุกเฉินแล้ว เพราะการลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงจะมีความผันผวนของมูลค่าเงินลงทุนมาก บางวันเราได้กำไร หรือบางช่วงเวลาเราจะขาดทุน ไม่มีทางเลยที่เราจะมองเห็นเงินลงทุนมีกำไรตลอดเวลา และไม่มีใครการันตีได้ด้วย หากใครมาการันตีผลตอบแทนจากการลงทุน เราต้องมีสติและฉุกคิดดีๆ ก่อนนะครับ
ตัวอย่าง พอร์ตการลงทุนในวัตถุประสงค์ต่างๆ ที่เราสามารถเลือกได้ตาม Style การลงทุนในแต่ละคน โดยแต่ละพอร์ตการลงทุนจะมีการจัดสัดส่วนสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน ในแต่ละระดับความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาการเงินก่อนตัดสินใจลงทุนนะครับ เพื่อให้เงินลงทุนของเราตอบสนองความต้องการจริงๆ ของผู้ลงทุน และเพื่อความเข้าใจในสถานการณ์ความผันผวนของมูลค่าเงินลงทุน และที่สำคัญการกำหนดเป้าหมายการลงทุนจะช่วยออกแบบพอร์ตการลงทุนได้อย่างตรงจุดมากที่สุดเลยครับ
การลงทุนมีความเสี่ยง
เราเคยได้ยินมาเสมอว่าการลงทุนมีความเสี่ยง คำว่า “ความเสี่ยง” นั้นหมายถึง สิ่งที่คาดเคลื่อนไปจากสิ่งที่เราคาดหวังไว้ ตัวอย่าง ถ้าเราเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว เราตั้งใจว่าเราต้องขายก๋วยเตี๋ยวให้ได้วันละ 100 ชาม แต่ในความเป็นจริง ในแต่ละวันเราอาจขายได้ 90 ชาม 50 ชาม หรืออาจขายได้ 200 ชามก็เป็นไปได้ นี่คือความคลาดเคลื่อนจากสิ่งที่เราคาดหวังไว้ นักวิชาการทางสถิติก็นำประเด็นเหล่านี้ไปคำนวนเพื่อวัดความคลาดเคลื่อนออกมาเป็นตัวเลขที่สามารถวัดผลได้ชัดเจน เวลาผู้ลงทุนอ่านค่าต่างๆ ในหนังสือชี้ชวนจำเป็นต้องทำความเข้าใจตัวเลขต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุน โดยผู้แนะนำการลงทุนจะเป็นคนแนะนำและตอบข้อสงสัย
เมื่อเราศึกษาสถิติจากอัตราผลตอบแทนและมองค่าความผันผวนของอัตราผลตอบแทนในสินทรัพย์เช่น ตราสารทุน (หุ้น) และตราสารหนี้ (หุ้นกู้) รวมถึงการนำทั้งสองสินทรัพย์มาผสมกัน ในช่วงเวลาต่างๆ ตั้งแต่ระยะสั้นๆ ไปจนถึงระยะเวลานานๆ เราจะเห็นสถิติอย่างชัดเจนว่า การลงทุนระยะยาว (สังเกตกราฟแท่งของการลงทุนระยะ 20 ปี) แทบไม่มีโอกาสของการขาดทุนเลย และอัตราผลตอบแทนก็อยู่ในเกณฑ์สูง ในช่วงตั้งแต่ 6% ถึง 17% เลยทีเดียว หากเราวางแผนการลงทุนดีๆ เราจะใช้สถิติข้อมูลเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับเป้าหมายการลงทุนได้อย่างสบายใจเลยครับ