รู้มั้ย? ตอนเราแก่ ประกันสังคมจะให้เงินบำนาญเราเริ่มต้นที่ 20% ของรายได้
หลายๆ คนอาจเคยสงสัยว่า เงินประกันสังคมที่เราจ่ายไปเรื่อยๆ ในแต่ละเดือน จ่ายไปทำไมตั้ง 750 บาท เพราะไม่เคยได้ใช้เคลมค่ารักษาพยาบาลตอนป่วยเลย แต่เพื่อนๆ รู้ไหมครับว่า ถ้าเราจ่ายเงินประกันสังคมได้ครบ 180 เดือนแล้ว เรามีสิทธิได้รับเงินบำนาญตอนเราเกษียณจากการทำงานด้วย คำถามต่อมาคือแล้วได้เท่าไรล่ะ ผมเลยอยากตอบให้ชัด ๆ เลยครับว่าเราจะได้รับเงินบำนาญเริ่มต้นที่ 20% ของรายได้เลยนะ “ว้าววว…”
สำหรับเพื่อนๆ ที่มีรายได้สูงบางคนอาจรู้สึกว้าวเลยนะครับ เพราะถ้าเรามีรายได้เดือนละ 100,000 บาท เราก็จะมีเงินใช้เดือนละ 20,000 บาทไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะเสียชีวิตเลย ว้าว!!! มันดีจริงๆ
แต่ช้าก่อน!! แท้จริงแล้วประกันสังคมจะกำหนดรายได้ของเราที่เป็นพนักงานลูกจ้างเป็นจำนวนเงินที่ได้รับจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ถ้าเรามีเงินเดือนมากกว่า 15,000 บาท อาจมีเงินเดือนหลายแสน ประกันสังคมก็จะกำหนดว่าเรามีเงินได้เดือนละ 15,000 บาทนะครับ ถือว่าเป็นจำนวนรายได้สูงสุดละครับ และบางคนเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 22 ปี เกษียณอายุตอนอายุ 60 ปี รวมทำงาน 38 ปี นับๆ ดูแล้วจ่ายประกันสังคมไปตั้ง 456 เดือน แล้วจะได้รับเงินเท่าๆ กับคนจ่าย 180 เดือน มันคงไม่แฟร์จริงไหมครับ
วันนี้ผมจะนำเสนอ 4 ขั้นตอนคำนวนเงินบำนาญจากประกันสังคมครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคนในการวางแผนเกษียณของทุกคนนะครับ โดยจะนำเสนอเป็นตัวอย่างเพื่อความเข้าใจง่ายขึ้น (อ้างอิงหนังสือหลักสูตรการวางแผนเพื่อวัยเกษียณของสมาคมนักวางแผนการเงินไทยและ TSI ครับ)
STEP1: สมทบกี่เดือน
ตัวอย่าง คุณหญิงกีรติ เริ่มจ่ายเงินประกันสังคม
เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2542 คาดว่าจะสิ้นสุดการจ่ายสมทบเดือนธันวาคม 2572 (แตกต่างกันในแต่ละบุคคลนะครับ ให้นับเดือนในการจ่ายสมทบของแต่ละคนเองเลยครับ) คิดออกมาแล้วได้เท่ากับ 372 เดือน (จุดนี้มั่นใจได้เลยว่าได้รับบำนาญแน่นอนเพราะเกิน 180 เดือน) เพื่อนๆ บางคนอาจเป็นพนักงาน ลาออกบ้าง ทำงานบ้าง ก็ให้นับจำนวนเดือนที่จ่ายเงินประกันสังคมได้เลยนะครับ
STEP2: ฐานรายได้เท่าไหร่ โดยคิดจากรายได้เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
ประกันสังคมได้กำหนดขอบบนสุดของรายได้แต่ละคนเท่ากับ 15,000 บาท ถึงแม้เราจะมีรายได้ 100,000 บาทต่อเดือน ก็ถือว่าเรามีรายได้ 15,000 บาทต่อเดือนในทำนองเดียวกันก็กำหนดขอบเขตล่างสุดของรายได้เช่นกัน นั่นคือเดือนละ 4,800 บาทต่อเดือนครับ
ตัวอย่าง คุณหญิงกีรติมีรายได้เดือนละ 25,000 บาท จนถึงเดือนสุดท้ายที่จ่ายสมทบ เฉลี่ย 60 เดือนย้อนหลัง นั่นหมายถึงเงินเดือนเฉลี่ยของคุณหญิงกีรติเท่ากับ 15,000 บาทครับ และจำนวนเงินนี้จะเป็นเงินฐานรายได้ของเราในการคำนวนเงินบำนาญครับ
STEP3: ได้บำนาญกี่ % ของฐานรายได้ คิดได้จากจำนวนเดือนที่จ่ายสมทบ
จุดนี้ให้เราคิดเป็น 2 ส่วนแล้วนำมารวมกันครับ คือ [ส่วน180เดือน] + [ส่วนที่เกิน180เดือน]
ตัวอย่าง คุณหญิงกีรติจ่ายเงินสมทบ 372 เดือน
[ส่วน180เดือน] ไม่ต้องคิดมากครับ ได้ 20% เลยครับ
[ส่วนที่เกิน180เดือน] ให้หาเป็นจำนวนปีแล้วประกันสังคมแถมให้อีก 1.5 เท่าของปีที่จ่ายเกิน ลองดูตัวอย่าง
– กรณีนี้จ่ายประกันสังคมเกินมา 192 เดือน (372 – 180)
– หาร 12 ได้ 16 ปี (ถ้ามีเศษปัดทิ้งไปนะจ๊ะ)
– ประกันสังคมก็เพิ่มให้เป็น 1.5 x 16 = 24%
ดังนั้น คุณหญิงกีรติจะได้บำนาญ [ส่วน180เดือน] + [ส่วนเกิน180เดือน]
= 20% + 24% = 44%
STEP4: คำนวนเงินบำนาญ
บำนาญที่ได้ คือ [รายได้เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย] คูณกับ [% ที่ได้]
คุณหญิงกีรติ จะได้รับเงินบำนาญ คือ
15,000 x 44% = 6,600 บาทต่อเดือน
โดยจะได้รับไปจนสิ้นลมหายใจครับ
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ อยากให้ลองคำนวนเงินบำนาญของตัวเพื่อนๆ กันเองด้วยนะครับว่าตอนเราเกษียณอายุไปแล้วเรายังสามารถมีรายได้จากเงินบำนาญประกันสังคมด้วย พอหรือไม่พอใช้เพื่อนๆ ต้องพิจารณาต่อนะครับว่าเราจะวางแผนการเงินอย่างไรให้ชีวิตมีความสุขจนวันสุดท้ายของเราครับ ขอให้ทุกคนมีความมั่งคั่งกันทุกๆ คนครับ
ชยธร ทันนิเทศ
ที่ปรึกษาการเงิน AFPT
สมาคมนักวางแผนการเงินไทย