ถ้าคุณคือพนักงานหรือลูกจ้างปัจจุบัน (ผู้ประกันตนตามมาตรา 33) หรือผู้เคยเป็นพนักงานหรือเคยเป็นลูกจ้าง (ผู้ประกันตนตามมาตรา 39) คุณมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตรจากประกันสังคม แต่บอกไว้ก่อนว่าผู้ประกันตนแบบสมัครใจแต่ไม่เคยเป็นลูกจ้าง (มาตรา 40) จะไม่ได้รับสิทธินี้จ้า
เงื่อนไขในการรับสิทธิ
- ผู้ที่ได้ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือนก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
- ต้องบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย อายุไม่เกิน 6 ปี บริบูรณ์ คราวละไม่เกิน 2 ราย
อ่านแล้วจะ งงๆ ลองแปลไทยเป็นไทยด้วยภาษาง่ายๆ อีกทีนะครับ ถ้าอยากรู้ว่าเราจะได้รับสิทธินี้หรือไม่ ให้ตอบคำถามทีละข้อดังนี้
- เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่มีเอกสารจากทางราชการยืนยันว่าเด็กเป็นลูกของเรา ก็อาจจะหมดสิทธินะครับโดยเฉพาะคุณผู้ชาย ส่วนผู้เอาประกันตนผู้หญิงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
- เริ่มนับวันนี้ที่เราตั้งใจจะไปรับสิทธิย้อนกลับไป 36 เดือน แล้วนับดูว่าเราส่งเงินสมทบประกันสังคมไปแล้วเกิน 12 ครั้งหรือไม่ ถ้าไม่ถึง 12 เดือนก็ไม่ได้รับสิทธิครับ แต่ถ้าเกินก็ลุยโลด เบิกได้เลย และจะเบิกได้จนลูกของเราอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์เลยครับ
- ถ้าลูกของเราอยู่ในเงือนไขอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ แต่เรามีลูกอยู่ 3 คน เราจะสามารถเบิกได้สูงสุดทีละ 2 คนนะครับ
ได้รับอะไรบ้าง
- ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรแบบเหมาจ่ายเดือนละ 350 บาทต่อบุตร 1 คน ไปจนถึงบุตรมีอายุครบ 6 ปี บริบูรณ์ ถ้าเรามีลูก 2 คนก็ได้เดือนละ 700 บาทครับ
- หากผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย (พูดง่ายๆ ว่าตายก่อน) หรือทุพลภาพ (หรือพิการ) ในขณะที่บุตรมีอายุไม่ถึง 6 ปีบริบูรณ์ บุตรก็จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรต่อไปจนถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์เช่นกัน
เป็นอย่างไรบ้างครับ สำหรับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากประกันสังคม เราอาจได้ไม่มากมายนักแต่นี่ก็เป็นสิทธิพื้นฐานที่เราพึงมี หากเราไม่ได้รับสิทธิก็ถือว่าเราได้มีส่วนช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวอื่นๆ ที่จำเป็น ได้บุญไปอีกทางนึงครับ ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการทำงานและแบ่งปันต่อสังคมครับ
ชยธร ทันนิเทศ
ที่ปรึกษาการเงิน AFPT